วันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การกระตุ้นไม้กฤษณาอายุน้อย

สำหรับเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจจะปลูกไม้กฤษณา แต่มีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด มักจะมองว่า การปลูกต้นกฤษณาเพื่อเชิงพาณิชย์นั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลานาน เพราะต้องรอให้ต้นโตได้ที่ ประมาณ 8-12 ปี จึงจะมีขนาดที่จะสามารถทำสารได้  แต่ในความเป็นจริงแล้วต้นกฤษณาอายุน้อยๆก็สามารถสร้างสารกฤษณาได้ดีไม่แพ้กัน อีกทั้งต้นกฤษณานั้นเป็นไม้ที่มักจะมีอัตราการยืนต้นตายเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น หรือประมาณ ปีที่ 3-5 ค่อนข้างสูง จึงเป็นการดีหากสามารถสร้างสารกฤษณาได้ในต้นที่อายุน้อยเช่นนี้ ผมจึงได้ทดลองปลูกต้นกฤษณาเอาไว้ที่บ้านที่บุรีรัมย์และเชียงราย เพื่อเป็นแปลงทดลอง

แปลงทดลองดังกล่าวนั้น ผมได้ปลูกกฤษณาเอาไว้ในระยะ 1x1 เมตร โดยทำการเจาะกระตุ้นเอาไว้ทุกต้นเมื่อเข้าปีที่ 3 และทำการตัดแปรรูปเป็นไม้ชิ้น โดยทำการตัดแบบต้นเว้นต้นเมื่อเข้าปีที่ 4 และตัดให้สูงจากพื้นประมาณ 80 เซนติเมตร เพื่อให้ต้นไม้ได้แตกกิ่งใหม่โดยไม่ต้องปลูกทดแทน ผลปรากฏว่า ต้นกฤษณาที่ตัดออกมานั้นให้ผลผลิตอยู่ที่ประมาณ 600 กรัม ถึง 1 กิโลกรัมต่อต้น ส่วนต้นที่เว้นระยะเอาไว้ก็สามารถเติบโตต่อไปได้โดยปกติ

จากแนวคิดนี้ สามารถนำมาเพิ่มผลผลิตและหมุนเวียนรายได้รอบเร็วให้กับผู้ปลูกไม้กฤษณาโดยการกระชับระยะปลูกให้ใกล้ขึ้น และทำการกะตุ้นและแปรรูปออกไปขายเป็นรุ่นๆไป ดังตัวอย่างเช่น

พื้นที่ 1 ไร่ จากเดิม หาก ปลูกระยะ 4x4 เมตร จะได้ต้นไม้ไม่กี่ต้น และต้องรอหลายปีกว่าไม้จะโตจนเริ่มทำการกระตุ้นได้  แต่แนวคิดใหม่คือ

- 1 ไร่ ปลูก 1x1 เมตร = 1,600 ต้น

- เจาะกระตุ้นไว้ทุกต้นด้วยวิธีการสอดแท่งไม้แช่น้ำยาในปีที่ 3 (ลงทุนไม่มากนัก เพราะไม้ต้นเล็ก)

- ตัดแปรรูปหลังจากนั้นอีก 1 ปี โดยการตัดต้นเว้นต้น เพื่อให้ต้นไม้ในแนวอื่นๆได้เติบโตขึ้นมา

- เจาะกระตุ้นไม้ที่เหลือโดยทำการเจาะในบริเวณเนื้อขาวที่สร้างมาใหม่ ส่วนรอยกระตุ้นเดิมนั้นจะสามารถสะสมเป็นไม้กฤษณาเกรดดีๆได้เมื่อเก็บบ่มไว้นานขึ้น

- ทำการตัดแปรรูปได้ทุกปีเรือยๆ โดยที่ต้นเดิมที่เคยเก็บเกี่ยวไปก่อนหน้านั้นก็จะกลับมาเติบโตขึ้นและหมุนเวียนทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ







หากทำแบบนี้เกษตรกรก็จะสามารถมีรายได้จากการขายแก่นไม้ได้ภายใน 4 ปี และหลังจากนั้นก็จะมีรายรับต่อเนื่องไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องรอให้ไม้โตเช่นการปลูกแบบเดิม และก็ไม้ต้องปลูกใหม่ เพราะต้นไม้ที่ตัดไปก่อนหน้านี้จะโตหมุนเวียนไปเรื่อยๆ และเร็วกว่าการปลูกใหม่ เพราะระบบรากนั้นมีจำนวนที่มากและแข็งแรงกว่าต้นกล้าจากถุง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น