วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2552

การเกิดสารกฤษณา

ที่ผมจะเล่าถึงต่อไปนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในเรื่องราวมากมายของไม้กฤษณา ไม้ที่บางคนกล่าวถึงในนาม “ของขวัญจากพระเจ้า” ผมใช้เวลาหลายปี หมดเงินทองไปก็มากมายกับการศึกษาไม้กฤษณา เดินทางเข้าป่าเข้าพงเพื่อหาไม้ป่ากับพรานกฤษณา พบปะผู้คนมากมายเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับไม้กฤษณา ทั้งคนไทย,จีน,ญี่ปุ่น ชาวอาหรับและฝรั่งอีกหลายต่อหลายคน ทั้งนี้ก็เพื่อศึกษาถึงความแตกต่างและความเหมือนของวัฒนธรรมการใช้ไม้กฤษณา และเรื่องตลาดซื้อขายไม้ของประเทศต่าง เพื่อเปรียบเทียบกับการซื้อขายไม้กฤษณาในบ้านเรา

ไม้กฤษณาและน้ำมันกฤษณาที่พบเห็นกันอยู่ในบ้านเราและตลาดต่างประเทศนั้น ส่วนใหญ่มาจากต้นกฤษณาเพียง 2 – 3 สายพันธุ์ จากพืชที่ให้สารกฤษณา ได้แก่ Aquilaria และสกุล Gyrinops ทั้ง 2 สกุลในธรรมชาติ ซึ่งส่วนมากมาจากอินเดียตะวันออก,บังคลาเทศลงมาถึงพม่า,จีน,ไทย, ลาว, เวียตนาม, กัมพูชา เรื่อยลงไปถึงคาบสมุทรมาลายู เช่นมาเลเซีย ,บรูไน ,ฟิลิปปินส์,อินโดนีเซียรวมไปถึงปาปัวนิวกินีและบอร์เนียว ที่ยังคงมีกฤษณาน้อย (Gyrinops) อยู่เป็นจำนวนมาก แต่เชื่อหรือไม่ว่ากฤษณากำลังจะหมดไปจากธรรมชาติ ปัจจุบัน ไซเตส ได้ขึ้นทะเบียนกฤษณาสายพันธุ์ Aquilaria malacchensis เป็นสายพันธุ์ที่ “เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากการค้า” และสายพันธุ์ A. crassna เป็นสายพันธุ์ที่ “ใกล้สูญพันธุ์ในขั้นวิกฤติ” ซึ่งทั้งสองสายพันธุ์นั้นเป็นกฤษณาที่มีอยู่ในประเทศไทย โดย A. crassna นั้นเป็นไม้พื้นเมืองที่มีถิ่นฐานอยู่ในตอนบนของประเทศ ตั้งแต่ภาคอีสานไปจนถึงภาคเหนือ และสายพันธุ์Aquilaria malacchensis เป็นสายพันธุ์ที่อยู่ในภาคใต้ของประเทศ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันทางกายภาพอย่างมากกับสายพันธุ์ A. agollocha ในอินเดียและพม่า จนเกิดความสับสน ซึ่งความจริงแล้วทั้งสองสายพันธุ์เป็นสายพันธุ์เดียวกัน ในเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ของกฤษณาเพราะไซเตส ขึ้นทะเบียน Aquilaria malacchensis เป็นสายพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากการค้า แต่สายพันธุ์ A. agollocha นั้นไม่ได้ระบุเอาไว้ ทั้งที่เป็นสายพันธุ์เดียวกัน ทำให้ผู้ค้ากฤษณาหัวใสในต่างประเทศทำการค้าขายไม้กฤษณาสายพันธุ์ Aquilaria malacchensis ที่ได้มาจากการหาในธรรมชาติ โดยสวมชื่อสายพันธุ์เป็น A. agollocha ในแปลงปลูก

เรื่องน่าเป็นห่วงเกี่ยวกับการสูญพันธุ์ของไม้กฤษณาคือการระบุชื่อสายพันธุ์ เช่นเมื่อไปถามเกษตรกรผู้ปลูกหรือพรานหาไม้กฤษณาป่าในประเทศลาว,เวียตนาม,ไทยหรือประเทศอื่นๆ ว่าไม้ที่เขาเหล่านั้นปลูกหรือหามานั้นเป็นสายพันธุ์อะไร มักจะได้คำตอบที่เป็นชื่อสถานที่ที่ไม้นั้นๆตั้งอยู่ ซึ่งไม่ใช่ชื่อสายพันธุ์สากลที่กำหนดเป็นภาษาละติน ทำให้ไม่สามารถทราบจำนวนที่แท้จริงของสายพันธุ์ไม้ว่ามีเหลืออยู่เท่าไร โดยเฉพาะอย่ายิ่งสายพันธุ์ A. crassna ที่ระบุว่าเป็นไม้พื้นเมืองของอินโดจีนซึ่งใกล้สูญพันธุ์ในขั้นวิกฤติ และมีรายงานเป็นเอกสารว่า เป็นสายพันธุ์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงที่สุดและมีราคาแพงที่สุดนั้นมักจะมีชื่อเรียกตามถิ่นฐานมากกว่าสายพันธุ์ที่แท้จริง ดังเช่นในประเทศไทยที่เรียกพันธุ์ตราด,พันธุ์เขาใหญ่ หรือพันธุ์เหนือ ความเป็นจริงแล้วล้วนแต่เป็นสายพันธุ์ A. crassna ทั้งสิ้น

นอกจากจะได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวางไปทั่วโลกว่ากฤษณาเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์แล้ว ไม้กฤษณายังเป็นไม้ที่มีเสน่ห์ชวนให้หลงใหลและท้าทายเป็นอย่างยิ่ง กลิ่นที่หอมหวานนั้นนอกจากจะช่วยให้จิตใจผ่อนคลายจากความเครียดแล้วยังสามารถดึงดูดผู้คนให้เคลิบเคลิ้มหลงใหลได้เช่นเดียวกันกับทองคำ เนื่องจากกฤษณาเป็นสินค้าที่มีมูลค่าราคาในตัวเองสูงมากพอๆกับทองคำ จนได้รับการขนานนามในตะวันออกกลางว่าเป็น “ทองคำสีดำ” เป็นเหตุให้เกิดการหาไม้กฤษณาออกจากป่ามาขายกันจนใกล้ที่จะสูญพันธุ์ในปัจจุบัน ถึงกระนั้นก็ยังไม่มีสินค้ามากเพียงพอกับความต้องการของตลาดโลก

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเราสามารถพบหากฤษณาที่มีในธรรมชาติได้ในประเทศ ลาว,เวียตนามและกัมพูชา ซึ่งสาเหตุที่ยังคงมีกฤษณาในธรรมชาติหลงเหลืออยู่นั้นส่วนมากเป็นผลมาจากสงครามที่ทำให้ป่าบางพื้นที่นั้นเต็มไปด้วยกับระเบิดที่ยังคงหลงเหลืออยู่ ทำให้พรานไม้ไม่กล้าเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวส่งผลให้ในภาคตะวันตกของกัมพูชานั้นยังคงหลงเหลือกฤษณาขนาดใหญ่อยู่ในปัจจุบัน ขณะที่บางประเทศเช่น ไทย,อินเดีย,บังคลาเทศหรือจีนนั้นยังคงพบเห็นตามธรรมชาติได้บ้างแต่ส่วนใหญ่ที่พบมักจะเป็นไม้ที่ได้รับการปลูกขึ้นในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นผลดีต่อการอนุรักษ์สายพันธุ์กฤษณาไม่ให้สูญพันธ์

ในธรรมชาตินั้น ต้นกฤษณาที่มีสภาพปกติจะไม่มีการสะสมของสารกฤษณา การเกิดสารกฤษณานั้นมักพบในกรณีที่เกิดบาดแผล,ความเครียดหรือความบกพร่องกับต้นไม้ แต่สารกฤษณานั้นก็จะหายไปในเวลาอันสั้นในช่วง 2 – 3 เดือนหากไม่มีการอักเสบของบาดแผลหรือเกิดความเครียดที่ต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อต้นกฤษณาเกิดบาดแผลไม่ว่าจะกิ่งหักตามธรรมชาติหรือเกิดจากการตัดฟันของมนุษย์ก็ตาม ต้นไม้จะหลั่งน้ำมันออกมาเพื่อปิดและรักษาบาดแผล หากเปรียบกับร่างกายของเราก็เหมือนกับน้ำเหลืองที่ออกมารักษาบาดแผล เมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่งก็จะกลายเป็นตกสะเก็ดและหลุดออกไปเหลือผิวหนังเป็นปกติ

ต้นกฤษณาก็เช่นเดียวกันเมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่ง ( 2 – 3 เดือน ) หากไม่มีอะไรผิดปกติก็จะสามารถปิดปากแผลและกลับคืนเป็นเนื้อไม้ปกติเช่นเดิม นั่นจึงเป็นสาเหตุให้ไม้กฤษณามีราคาแพงมาก เพราะเป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่งในธรรมชาติ สำหรับไม้กฤษณาที่มีน้ำมันสะสมมากตามธรรมชาติ จากการตรวจสอบส่วนใหญ่มักจะพบว่า มีเชื้อราอยู่ในเนื้อไม้ที่เกิดน้ำมัน เป็นสาเหตุให้นักวิทยาศาสตร์หลายท่านที่สนใจในการเกิดสารกฤษณาลงความเห็นว่าสารกฤษณานั้นเกิดจากเชื้อรา ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ได้มีการค้นพบว่า เชื้อราไม่ใช่สาเหตุหลักของการเกิดสารกฤษณาในธรรมชาติ แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเชื้อราก็มีส่วนร่วมในการเกิดกฤษณาตามธรรมชาติ โดยเชื้อรานั้นเข้ามาย่อยสลายเซลล์ที่ตายแล้วบริเวณบาดแผลของไม้กฤษณาซึ่งต้นไม้มีการหลั่งน้ำมันออกมารักษาแผลเป็นปกติอยู่แล้ว แต่เชื้อดังกล่าวกลับลุกลามไปย่อยเอาเซลที่ยังมีชีวิตต่อเนื่องไปด้วย ต้นไม้จึงเกิดการหลั่งน้ำมันต่อเนื่อง และเมื่อการติดเชื้อนั้นหยุดลงแล้ว ต้นไม้กลับได้สร้างแนวการสะสมน้ำมันเอาไว้และจะทำการสะสมต่อเนื่องไปเรื่อยๆจนกว่าต้นไม้จะตาย โดยมากมักพบภายในลำต้นมากกว่าบริเวณผิวด้านนอก เพราะจากที่ผมเคยสังเกตมา ไม้ที่สัมผัสกับอากาศนั้นมักไม่ค่อยมีการสะสมน้ำมันจนกลายเป็นไม้เกรดดีๆ ส่วนใหญ่จะกลับคืนตัวกลายเป็นเปลือก

จากประสบการณ์ที่ผมเคยศึกษาค้นคว้าจากเอกสารทั้งของไทยและต่างประเทศ รวมถึงการร่วมเข้าป่าหาไม้กฤษณากับพรานไม้ พบว่า ต้นกฤษณาบางต้นนั้นสามารถเกิดสารกฤษณาปริมาณมากมายโดยที่ไม่มีบาดแผลติดเชื้อราเลย แต่กลับเกิดการสะสมสารกฤษณาในปริมาณมากได้จากการถูกเถาวัลย์รัดเอาไว้เป็นเวลานานหลายปีจนกลายเป็นไม้เกรด ซุปเปอร์ ซึ่งมีราคาแพงมาก บางต้นเกิดจากการเสียดสีโดยแรงลมกับต้นไม้อื่นเป็นเวลานานๆ หรือเกิดจากน้ำที่ขังในโพรงหรือรูหนอนเจาะเป็นเวลานาน แม้บางช่วงเวลาน้ำจะแห้งไปแต่การเกิดแนวการหลั่งสารกฤษณาก็ยังคงดำเนินอยู่ ทำให้เข้าใจได้ว่า แท้จริงแล้วการหลั่งกฤษณานั้นเกิดจากการมีบาดแผลหรือความเครียดตามปกติอยู่แล้ว แต่ปัจจัยที่ทำให้เกิดการสะสมน้ำมันกฤษณาในเนื้อไม้ก็คือความเครียดหรือการอักเสบ ที่ต่อเนื่อง จนทำให้ต้นไม้เกิดการหลั่งกฤษณาออกมาเป็นเวลานานจนเกิดแนวการหลั่งน้ำมันต่อเนื่องนั่นเอง ถึงแม้บาดแผลหรือความเครียดที่เกิดต่อเนื่องนั้นได้หยุดหรือหายไปในภายหลังแต่แนวของการหลั่งน้ำมันยังคงอยู่และเกิดการสะสมน้ำมันกฤษณาในเนื้อไม้ต่อไป

จากความไม่เข้าใจในเรื่องการเกิดและสะสมสารกฤษณาดังกล่าว ทำให้เกิดความล้มเหลวในการพยายามสร้างไม้กฤษณาจากแปลงปลูก ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ต้นกฤษณาอันเป็นการสร้างความเสื่อมศรัทธาในกระบวนการกระตุ้นให้เกิดสารกฤษณาของเกษตรกร จนมีเกษตรกรผู้ปลูกกฤษณาหลายรายทำการตัดโค่นไม้กฤษณาที่ตนเองปลูกไว้เป็นเวลาหลายปีเพื่อปลูกยางพาราหรือปาล์มน้ำมันซึ่งสามารถจับต้องผลสำเร็จได้ชัดเจนกว่าการปลูกกฤษณา เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะหากสามารถทำให้เกิดกฤษณาที่คุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ได้แล้วจะทำให้ประเทศชาติมีรายได้จากไม้กฤษณาต่อปีเป็นจำนวนเงินมหาศาล ดังนั้น เมื่อทราบถึงปัจจัยเหล่านี้แล้ว ผมจึงได้คิดค้นกระบวนการและเครื่องมือที่สามารถทำให้ต้นกฤษณาที่ปลูกในแปลงปลูกหลั่งน้ำมันออกมาในปริมาณมากและเร็วกว่าการเกิดและสะสมในธรรมชาติ เพื่อความคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์และเป็นการลดการหาไม้ป่าซึ่งตามธรรมชาตินั้นการสะสมน้ำมันนั้นใช้เวลาร่วม 100 ปี กว่าจะได้ไม้ดีๆสักชิ้น แต่กระบวนการที่ได้คิดค้นขึ้นมานั้น สามารถสร้างสารกฤษณาได้เป็นปริมาณมากในต้นกฤษณา คือทำให้ต้นกฤษณาหลั่งและสะสมกฤษณาได้ทั่วทั้งลำต้นโดยใช้เวลาเพียง 1 – 2 ปี ปกติแล้วกฤษณาสามารถสร้างสารกฤษณาได้ทุกส่วนของลำต้น ดังนั้นต้องทำให้ต้นกฤษณาหลั่งและสะสมสารกฤษณาได้ทั้งต้น ไม่เว้นแม้แต่กิ่งเล็กๆ เนื่องจากมูลค่าและราคาที่สูงของไม้กฤษณานั่นเอง