วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2553

แนวโน้มน้ำมันกฤษณาช่วงปลายปี 2010

ช่วงหลายปีมานี้ ไม้กฤษณาจากธรรมชาติกำลังลดน้อยถอยลงไปทุกที ทำให้ราคาไม้เกรดดีๆจากธรรมชาติมีราคาสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่ขณะเดียวกันก็ส่งผลดีให้กับไม้กฤษณาจากแปลงปลูกด้วย เพราะทำให้มีผู้ซื้อหันมาซื้อหาไม้ที่ผลิตจากการปลูกกันมากขึ้น


ตรงกันข้ามกับน้ำมันกฤษณาที่มีราคาต่ำลงทุกวันอันเนื่องมาจากปริมาณน้ำมันในท้องตลาดที่มีมากขึ้นจากการปลูกและผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีน้ำมันไม้ธรรมชาติจากอินโดนีเซียและมาเลย์เซีย ซึ่งมีการเปิดป่าเป็นจำนวนนับแสนๆไร่เพื่อขยายการปลูกปาล์มน้ำมัน ทำให้มีน้ำมันกฤษณาธรรมชาติทะลักเข้ามาสู่ตลาดน้ำมัน และราคาถูกกว่าน้ำมันจากประเทศไทย จึงกลายเป็นอีกตัวเลือกหนึ่ง ทำให้เกิดภาวะสินค้าเกินตลาด อันเป็นไปตามหลักอุปสงค์และอุปทาน ดังนั้น ช่วงนี้ หากท่านผู้ผลิตที่ไม่สามารถนำน้ำมันไปขายยังต่างประเทศเองได้หรือยังมีทุนเพียงพอ ก็ควรเก็บน้ำมันเอาไว้ขายในช่วงที่ราคาดีกว่านี้

ภาวะแนวโน้มของน้ำมันกฤษณาในช่วงเวลานี้ ความน่าสนใจอยู่ที่น้ำมันจากเขาใหญ่ซึ่งมีกลิ่นที่หอมหวานเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว น้ำมันจากเขาใหญ่นี้ ไม่ว่าจะมาจากการปลูกและกระตุ้น หรือมาจากวัตถุดิบธรรมชาติ ก็ให้กลิ่นหอมหวานไม่ต่างกัน อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของสายพันธุ์คราสน่า ซึ่งเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมเฉพาะถิ่นของย่านอินโดจีน ซึ่งคำว่าคราสน่า ก็เพี้ยนมาจากคำว่า "กฤษณา" นั่นเอง


ทั้งนี้ กลิ่นหอมหวานของน้ำมันจากเขาใหญ่มีความแตกต่างจากน้ำมันในสายพันธุ์คราสน่าจากที่อื่นๆอย่างสังเกตได้ชัด ทั้งจากเวียตนาม ลาว กัมพูชา หรือแม้แต่ที่ตราดและจันทบุรี โดยมีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า น่าจะมาจากปัจจัยในเรื่ององค์ประกอบของสภาพดินและน้ำทั้งจากแหล่งที่ตั้งอยู่ของต้นกฤษณาและน้ำที่ใช้กลั่น อันสอดคล้องกับแนวความคิดของคุณสมคิด แซ่เตียว และอีกหลายคนจากแหล่งกลั่นน้ำมันในนครนายกและปราจีนบุรี

ซึ่งจากกระแสของตลาดที่เริ่มหันกลับมาน้ำมันเขาใหญ่ ทำให้ผู้ผลิตน้ำมันเขาใหญ่มีโอกาสที่ดีสำหรับไม้ปลูก เพราะที่ผ่านมา น้ำมันจากไม้ปลูกย่านเขาใหญ่สามารถทำราคาได้ดีในช่วงเวลาที่น้ำมันจากที่อื่นๆราคาตกลง

**หมายเหตุ**

ข้อความในบทความส่วนหนึ่งแปลจากบทความจากต่างประเทศ