วันพุธที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2558

ตลาดไม้กฤษณาปลูก

จากอดีตถึงปัจจุบัน ไม้กฤษณาถือว่าเป็นสินค้าที่มีราคาสูงโดยเฉพาะไม้กฤษณาที่ได้มาจากป่าธรรมชาติที่มีอายุการสะสมนานนับร้อยปีจนกลายเป็นแก่นแข็งจมน้ำซึ่งราคาในปัจจุบันสำหรับไม้เกรดนี้สูงถึงกิโลกรัมละหลายล้านบาท ทั้งที่เมื่อหกเจ็ดปีที่แล้วยังสามารถหาได้ในราคาเพียงกิโลกรัมละสี่แสนถึงห้าแสนบาทเท่านั้น ทั้งนี้เพราะไม้กฤษณาในธรรมชาติเริ่มร่อยหรอลงไปทุกทีจากการล่าของพรานป่าเพื่อการค้าจนใกล้จะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ






แม้ปัจจุบันจะมีการปลูกกฤษณาทดแทนไม้ป่าธรรมชาติ แต่ด้วยระยะเวลาในการสะสมเรซินในเนื้อไม้ที่สั้นเพียง 2-5 ปี ทำให้ราคาไม้กฤษณาปลูกไม่สามารถที่จะเทียบเคียงได้กับไม้ธรรมชาติ แต่ด้วยปริมาณและผลผลิตที่สามารถคาดคะเนได้ก็สามารถชดเชยในเรื่องความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องมีการหาตลาดล่างที่ผู้ซื้อสามารถนำผลผลิตเหล่านี้ไปใช้ได้ในราคาที่เหมาะสมและปริมาณการซื้อที่ต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีตลาดจีนเป็นผู้ซื้อต่อเนื่องรายใหญ่ที่สุด











แต่การที่จะทำให้สินค้าเกรดล่างอย่างไม้ปลูกเหล่านี้เป็นที่ยอมรับได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเราต้องทราบให้ได้ว่าเขาต้องการสินค้าไปทำประโยชน์อะไร มีลักษณะการใช้อย่างไร รสนิยมผู้บริโภคเป็นเช่นไร และตัวสินค้าต้องเป็นอย่างไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ผมต้องปฏิวัติการผลิตไม้กฤษณาปลูกใหม่ทั้งหมดตั้งแต่การเจาะกระตุ้นไปจนถึงการสิ่วไม้และคัดแยกไม้จนเป็นที่ยอมรับของลูกค้ารายใหญ่หลายรายในปัจจุบัน หากสินค้าไม่สะอาด มีกาว หรือทาสีมาเช่นในอดีตก็จะสร้างความเสียหายใหญ่หลวงต่อความศรัทธาของผู้ซื้อ ซึ่งจะทำให้บรรดาผู้ซื้อหันไปซื้อสินค้าจากทางเวียตนามแทน ซึ่งทั้งนี้ผมได้ใช้เวลานานกว่าจะสามารถทำให้ผู้ซื้อยอมรับในสินค้าได้ คงเป็นที่น่าเสียดายหากต้องเสียลูกค้าไปเพราะความมักง่ายเอาแต่ได้ ไม่ซื่อสัตย์ต่อตนเองและลูกค้า  ดังนั้น ผมจึงต้องขอโทษเกษตรกรทุกท่านที่ส่งไม้เข้ามาขายในกรณีที่สินค้าบางเกรดบางตัวผมไม่สามารถซื้อได้และต้องส่งกลับคืน แต่อย่างไรก็ตามผมจะพยายามสร้างตลาดใหม่ๆสำหรับสินค้าเหล่านั้นต่อไปครับ

น้ำยากระตุ้นไม้กฤษณา

สารกระตุ้นไม้กฤษณาที่ผมพัฒนาใช้อยู่ขณะนี้มีอยู่สองแบบคือ แบบตะเกียบที่แช่น้ำยาแล้วและแบบน้ำยาสำหรับหยอดเข้ารูเจาะโดยตรง ซึ่งทั้งสองแบบมีลักษณะเฉพาะตัวที่ต่างกันบ้างดังนี้

1. แบบตะเกียบเหมาะสำหรับเจาะต้นไม้ที่อายุไม่มากและต้องเจาะซ้ำทุกปีเมื่อต้นไม้โตขึ้น ทั้งนี้เพื่อเพิ่มผลผลิตในระยะยาว เหมาะสำหรับต้นไม้ที่เราไม่ต้องการตัดมาแปรรูปแต่ต้องการเก็บไว้หลายๆปี แต่หากไม่เจาะซ้ำทุกปีต้นไม้ที่เติบโตแข็งแรงได้ที่จะคืนตัวโดยการสร้างเนื้อไม้ขาวแทนที่แผลเก่าที่ทำไว้ ระยะเจาะที่เหมาะสมคือ แนวตั้ง 10 เซนติเมตรและแนวด้านข้าง 10 เซนติเมตร ซึ่งระยะขนาดนี้สามารถเจาะซ้ำบนเนื้อขาวที่ว่างได้อีกรอบ



2. แบบน้ำยาหยอดโดยตรง สารกระตุ้นไม้กฤษณาชุดนี้ใช้ง่ายและไม่ยุ่งยากเท่าตะเกียบเพราะสามารถเจาะด้วยสว่านขนาดสองหุนหรือสองหุนครึ่งแล้วบีบขวดใส่รูเจาะได้เลย ผลผลิตที่ได้จะมีชิ้นใหญ่กว่าแบบตะเกียบ สิ่วได้ง่ายกว่า แต่ข้อเสียคือ ไม่เหมาะกับการทำต้นไม้ขนาดเล็กเพราะจะมีการผุมากเกินไป ระยะการเจาะที่เหมาะสมคือ แนวตั้ง 20 เซนติเมตร และแนวด้านข้าง 10 เซนติเมตร ระยะเวลาในการตัดแปรรูปสามารถตัดได้ตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป แต่หากต้องการเก็บไว้นานกว่าสองปีก็ควรทำการเจาะซ้ำเนื้อขาวที่ว่างระหว่างรูเจาะเดิม ทั้งนี้จะซ้ำด้วยตะเกียบแช่น้ำยาหรือจะหยอดน้ำยาโดยตรงก็ได้ แต่ไม่ควรซ้ำเร็วเกินไป ควรทิ้งระยะให้ต้นไม้กลับมาแข็งแรงก่อนสักประมาณหกเดือนจึงค่อยทำการเจาะเพิ่ม






ผมไม่เห็นด้วยกับการเจาะต้นไม้ถี่ๆด้วยรูใหญ่ๆภายในครั้งเดียวเพราะเคยมีประสบการณ์แย่ๆมาด้วยตนเองแล้วว่าต้นไม้เกิดการผุพังเสียหายได้ง่าย และไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การเจาะกระตุ้นต้นกฤษณาโดยการใส่สารกระตุ้นทุกชนิดไม่ควรทำในฤดูฝนเพราะต้นไม้จะอ่อนแอและติดโรคต่างๆทางบาดแผลตายได้ง่าย

หากมีข้อสงสัยเพื่อสอบถามโดยส่วนตัวสามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 081-9979389 , 091-0708238 , 088-2612807 และที่อีเมล witsawa1@yahoo.com หรือทางเฟสบุค Facebook : Witsawa Sripetkla