วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การตายจากโรครากเน่าโคนเน่า

โรครากเน่าและโคนเน่า


โรครากเน่าและโคนเน่า (Root and foot rot)
 
โรครากเน่าโคนเน่าเป็นโรคระบาดร้ายแรงสำหรับพืชล้มลุกและไม้ยืนต้นเนื้ออ่อน ทำให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงสำหรับผู้ที่ปลูกกฤษณาและยางพารารวมถึงเกษตรกรที่ปลูกส้มและมะนาวด้วย
 
ลักษณะการระบาดจะเกิดมากในฤดูฝน หรือในแปลงปลูกที่มีความชื้นสูงการติดต่อในแนวน้ำขังในสวนและแนวที่น้ำไหล ทำให้เกิดการตายเป็นหย่อม ในรัศมีเป็นวงกลม , ตายเป็นแถว หรือในบางกรณีอาจถึงขั้นตายยกสวน หากไม่มีการป้องกันและรักษาอย่างถูกวิธี
 
ทั้งนี้ ในรอบสองถึงสามปีที่ผ่ามานี้เกิดการระบาดที่รุนแรงกว่าหลายปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการตายของต้นกฤษณาและยางพาราในประเทศไปแล้วหลายแสนต้น ผมจึงได้นำเอาข้อมูลมาลงไว้ให้เกษตรกรได้ศึกษาเพื่อเป็นแนวทางป้องกันและแก้ไขต่อไป

สาเหตุของโรค

เกิดจากเชื้อรา Pythium aphanidermatum (Edson) Fitz และ Phytophthora palmivora (E.J. Butter) E.J. Butter


ลักษณะอาการของโรค
ในระยะต้นกล้า จะเกิดกับต้นกล้าอ่อน ทำให้ส่วนของลำต้นบริเวณผิวดินมีลักษณะฉ่ำน้ำแล้วยุบเป็นแถบ ๆ และตายในที่สุด (ลักษณะอาการเน่าคอดิน) ถ้าเป็นมาก ต้นจะหักพับบริเวณโคนต้นหรือเหี่ยวตาย
ในต้นโตแล้ว จะมีอาการเน่ารอบ ๆ ลำต้นเป็นสีน้ำตาลหรือสีดำ มีกลิ่นเหม็น รอยเน่าอาจจะขยายตัวขึ้นด้านบนของลำต้นหรือขยายลงส่วนราก ทำให้รากเน่าด้วย มีสีน้ำตาล
โรคที่เกิดกับกฤษณาต้นโต มักพบในแปลงที่ดินมีการระบายน้ำไม่ดี โดยเชื้อราจะเข้าทำลายรากแขนงและลุกลามไปยังรากแก้ว และระบบรากทั้งต้น ทำให้รากเน่าเปื่อยเป็นสีน้ำตาลหลุดขาดได้ง่าย ต้นแคระแกรน ใบเหลือง ก้านใบลู่ลง และหลุดร่วงได้ง่าย ต้นกฤษณาจะเหลือใบยอดเป็นกระจุกและตายในที่สุด บริเวณโคนต้นจะเน่าชุ่มน้ำ มีสีน้ำตาลเยิ้มออกมา และต้นจะหักล้มพับบริเวณโคนต้นได้ง่าย โรคโคนเน่าและรากเน่าของกฤษณาต้นโต โดยทั่วไปจะเกิดจากเชื้อรา Phytophthora palmivora
การแพร่ระบาด

เชื้อราพิเที่ยม และไฟท๊อพทอร่า เป็นเชื้อราที่แพร่กระจายในดินที่มีน้ำขัง หรือระบายน้ำไม่ดี โดยเชื้อราจะสร้างสปอร์ซึ่งว่ายไปตามน้ำได้และเข้าทำลายที่รากฝอยและลุกลาม ต่อไป
การป้องกันและกำจัด

1. ในสวนที่มีโรคนี้ระบาด ควรปลูกพืชอื่นทดแทน การปลูกซ้ำที่จะทำให้การระบาดของโรคมากขึ้น ต้นที่เป็นโรคต้องถอนและเผาทิ้งทันที
2. การเตรียมแปลงปลูก ต้องระบายน้ำได้ดี ไม่มีน้ำขังแฉะ ควรเพาะกล้ากลางแดดจะทำให้ต้นกล้าแข็งแรง
3. คลุกเมล็ดก่อนปลูกด้วยสารฆ่าเชื้อรา เช่น metalaxyl จะช่วยควบคุมโรค
4. การควบคุมโรครากเน่าและโคนเน่าในแปลงปลูกที่มีประวัติการเกิดโรคและการปลูกทดแทน โดยขุดดินบริเวณต้นที่ตายออกให้เป็นหลุมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 30 ซม. แล้วนำดินจากแหล่งที่ไม่เคยปลูกกฤษณาหรือดินจากบริเวณที่ไม่เป็นโรคมาใส่แทน ซึ่งวิธีนี้เป็นการเพิ่มจุลินทรีย์ที่ยับยั้งเชื้อราสาเหตุโรค และยังทำให้ดินโปร่งไม่ขังน้ำ ลดปัญหาโรคนี้ได้