โดยมากแล้วเวลากล่าวถึงการกระตุ้นต้นกฤษณา นอกจากการถากฟันเพื่อให้ต้นไม้บบอบช้ำหรือที่เรียกว่าไม้ปากขวานแล้ว คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงการเจาะลำต้นแล้วหยอดหรือฉีดน้ำยาที่เป็นของเหลวเข้าไป ซึ่งเป็นเทคนิคหรือวิธีการที่กระทำกันอยู่โดยทั่วไปแทบจะทุกประเทศที่มีต้นกฤษณา
แต่การฉีดสารกระตุ้นเข้าไปในลำต้นนั้นก็ไม่สามาถจะเอาแน่นอนได้ เพราะมีปัจจัยลบหลายต่อหลายอย่างที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ต้นกฤษณา เช่น ความชื้น , แสงแดด , ปริมาณของใบ , ความเข้มข้นของสารกระตุ้น และขนาดของดอกสว่านเป็นต้น ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ต้นกฤษณาได้ทั้งสิ้น ซึ่งผมเองก็ผ่านประสบการณ์เลวร้ายนี้มาแล้ว ทั้งกับต้นไม้ของตนเองและเกษตรกร อันเนื่องมากจากยังไม่เข้าใจถึงปัจจัยเหล่านี้อย่างถ่องแท้
จากความผิดพลาดที่ผ่านมา ทำให้ผมต้องพัฒนาการกระตุ้นไม้กฤษณาเสียใหม่ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์สูงสุด เพราะในเชิงเศรษฐศาสตร์แล้ว กฤษณาจากแปลงปลูกนั้น มีต้นทุนตั้งแต่เริ่มปลูกซึ่งต่างจากการหาของป่าที่แทบจะไม่มีต้นทุน นั่นจึงเป็นเหตุให้ผมต้องคิดค้นสิ่งที่จะทำให้ไม้จากแปลงปลูกสามารถสร้างความคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ให้ได้สูงสุดจากตัวของมันเอง
ผลเสียของการกระตุ้นโดยการเจาะและฉีดน้ำยาสามารถอธิบายแยกตามปัจจัยได้ดังนี้
1. ขนาดของดอกสว่าน , มุมของการเจาะ , ทิศทางของการเจาะ และ จำนวนรูที่เจาะบนต้นไม้
- การเจาะต้นกฤษณาด้วยดอกสว่านขนาดใหญ่ และหากเจาะเข้าไปด้วยมุมที่ดิ่งชันดังที่หลายคนมักจะเคยชินกับการเจาะ 45 องศาแล้ว จะทำให้ในแต่ละรูเจาะนั้นอุ้มเอาสารกระตุ้นไว้มากจนเกินไป เพราะต้นไม้จะส่งของเหลวภายในลำต้นขึ้นลงไปตามจังหวะการคายน้ำและสังเคราะห์แสง ทำให้สารกระตุ้นที่เราใส่ไปทั้งหมดมารวมกันอยู่ตรงกลางลำต้น เป็นสาเหตุให้ต้นไม้ผุกลวงบริเวณใจกลางเป็นวงกว้าง
จริงอยู่ที่หากสารกระตุ้นนั้นสามารถสัมฤทธิ์ผลในการสร้างแก่นหรือน้ำมัน แต่การผุเสียในใจกลางนั้นก็ทำให้ได้ผลผลิตลดลง และต้นไม้ก็จะขาดความแข็งแรงจนถึงกับผุหักเสียหายได้ด้วย โดยเฉพาะบริเวณรูเจาะในแนวดิ่งที่เจาะตรงกัน และความถี่ของการเจาะ จะทำให้ต้นไม้ฉีกออกมาคล้ายกับกระดาษปรุ จุดนี้จะเห็นได้บ่อยครั้งในการเจาะโดยใช้น้ำยาของผมเอง ซึ่งนี่เองที่เปนสาเหตุที่ทำให้ต้องคิดค้นหาทางแก้ไขและป้องกันผลเสียจากการกระตุ้นไม้กฤษณา
ข้อเสนอแนะ
หากต้องกาใช้การฉีดสารที่เป็นของเหลวควรใช้ดอกสว่านขนาด 6-8 มม. และไม่ควรเจาะตรงกันในแนวตั้งในระยะประมาณ 20 ซม. อีกทั้งไม่ควรเจาะดิ่งหรือชันจนเกินไปนัก การเจาะที่กิ่งควรเจาะด้านข้าง ไม่ใช่ด้านบน เพราะด้านบนเป็นจุดรับแรงเครียดจากแรงโน้มถ่วง จะทำให้กิ่งหักได้ง่าย
2. ประเภทของสารที่ใช้เจาะกระตุ้นและสภาพอากาศ
- สารกระตุ้นที่ใช้กันส่วนใหญ่มักจะเป็นจุลินทรีย์น้ำ ซึ่งเกษตรกรผลิตขึ้นมาเอง สารกระตุ้นประเภทนี้มักก่อให้เกิดการติดเชื้อในลำต้นกฤษณาและค่อยๆผลิตน้ำมันออกมาต่อต้านอย่างช้าๆ ผลผลิตที่ได้นั้นขึ้นอยู่กับสุขภาพของต้นไม้ว่าแข็งแรงเพียงใด เพราะหากต้นไม้ไม่แข็งแรง เชื้อที่ฉีดเข้าไปอาจทำให้ต้นไม้ป่วยและยืนตายได้ แต่บางต้นที่แข็งแรงก็สามาถสร้างน้ำมันได้หนาและชิ้นใหญ่ วิธีการนี้ใช้กันแพร่หลายในจันทบุรีและตราด แต่ผลเสียที่เห็นชัดก็คือ หากสวนนั้นๆอยู่ในที่ ที่ มีฝนตกชุก ต้นไม้มักจะผุพังเสียหาย เพราะเชื้อุลินทรีย์สามารถเติบโตได้มากเกินไป ทำให้ไปย่อยทำลายต้นไม้มากกว่าแค่ติดเชื้อเพื่อให้ต้นไม้ระคายเคือง
ข้อเสนอแนะ
ไม่ควรใช้สารจุลินทรีย์กับต้นไม้อายุน้อยและไม่แข็งแรง
- สารกระตุ้นประเภทสารประกอบอินทรีย์ สารประเภทนี้ออกฤทธิ์เฉียบพลันทันทีทันใดในการทำให้ต้นกฤษณาระคายเคืองและสร้างสารกฤษณาออกมาป้องกันตัวเอง โดยหลังการกระตุ้นประมาณ 1-2 สัปดาห์ต้นไม้จะขับเอาสารเหล่านี้ออกไปจนหมดโดยการคายน้ำจากการสังเราะห์แสง และจะมีการสร้างน้ำมันอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆตราบเท่าที่รูเจาะนั้นไม่แตกอ้าจนสัมผัสกับอากาศ
โปรดสังเกตุดูรูเจาะที่ใช้ดอกสว่านที่ใหญ่เกินไป , แนวตั้งตรงกันเกินไป , เจาะถี่เกินไป ล้วนแล้วแต่ทำให้ต้นไม้เกิดการผุมากเกินจำเป็น แม้การเกิดกฤษณาจะมากแต่ก็ยังน่าเสียดาย
ด้วยความที่มีฤทธิ์เฉียบพลันนี้เอง จึงไม่ควรที่จะเจาะกระตุ้นโดยการใช้ดอกสว่านขนาดใหญ่และฉีดเข้าไปในลำต้น เพราะจะทำให้ต้นไม้ผุเสียหายได้ เนื่องจากจะมีเนื้อตายเป็นวงกว้าง ทำให้ต้องคิดหาวิธีการที่จะทำให้เกิดผลเสียน้อยทีสุดขณะที่ได้ผลผลิตสูงสุด เพราะสารประเภทนี้ส่งผลโดยตรงต่อการผลิตสารกฤษณาของต้นกฤษณา หากใช้ถูกวิธีผลที่ได้จะคุ้มค่ามาก
ข้อเสนอแนะ
ควรใช้ดอกสว่านขนาด 5-6 มม. และต้องไม่เจาะดิ่งลง ควรเจาะแบบขนานจะให้เนื้อไม้ที่หนามากและแทบไม่ผุเลย แต่วิธีที่ดีที่สุดกับสารตัวนี้คือการแช่ไม้ไผ่แล้วตอกเข้าไปในรูเจาะ
เมื่อได้ทราบถึงข้อเสียต่างๆแล้ว ผมจึงได้ค้นหาวิธีการที่จะทำให้มีการผุเสียหายน้อยที่สุดและสามารถผลิตกฤษณาได้มากที่สุด เมื่อทดลองแล้วพบว่า การใช้สารกระตุ้นประเภทสารประกอบอินทรีย์แช่ด้วยตะเกียบไม้ไผ่แล้วตอกเข้าไปในรูเจาะนั้นให้ผลผลิคตุ้มค่าที่สุด อีกทั้งยังมีรูปทรงเหมือนกับไม้กฤษณาจากธรมชาติ และน้ำหนักต่อชิ้นก็ดีมากอีกด้วย คือ ประมาณ 20-30 กรัมต่อ 1 รูเจาะเมื่อบ่มเอาไว้ 2 ปีหลังการกระตุ้น น้ำหนักของผลผลิตที่ได้จะค่อนข้างดี เพราะการผุนั้นน้อยมากในขณะที่มีการสร้างสารกฤษณาในปริมาณที่สูงแทบจะออกมาเป็นไม้ลูกตันและทีเดียว ที่สำคัญ หากสามารถทิ้งเอาไว้ได้นานๆหลังการกระตุ้นโดยไม่ตัดมาแปรรูป คาดว่าน่าจะเป็นได้ถึงไม้ซุปเปอร์จมน้ำ
วิธีการนี้ทำให้เกษตรกรสามารถคำนวณรายได้จากการทำไม้กฤษณาได้ง่าย เพราะสามารถทราบน้ำหนักหรือปริมาณเฉลี่ยของไม้กฤษราที่ได้ต่อต้น โดยคำนวณได้จากจำนวนรูเจาะ คูณเข้าไปด้วยราคาต่อกิโลกรัม สุดท้ายแล้วเอาไปลบกับต้นทุนก็จะรู้ถึงกำไรหรือขาดทุนสุทธิจากการทำไม้กฤษณา จะได้ไม่ต้องคอยกล่าวหาว่าใครหลอกอีกต่อไป เช่น
ต้นไม้อายุประมาณ 8-10 ปี หากเจาะด้วยดอกสว่านขนาด 6 มม. แล้วตอกแท่งไม้ไผ่แช่สารกระตุ้น ระยะเจาะจะอยู่ที่ประมาณ 15 ซม. โดยเฉลี่ย ทำให้สามารถเจาะได้ประมาณ 350 - 400 รูเจาะต่อต้น ซึ่งไม่ถือว่ามากจนเกินไป เพราะไม่ใช่การฉีดสารเข้าไปโดยตรง
ผลผลิตต่อรูที่ได้หลังจากทิ้งไว้ 2 ปีประมาณ 30 กรัม และหากสมมุติว่าราคากิโลกรัมละ 10,000 บาท จะสามารถคำนวณรายรับได้ดังนี้
a = ราคาต่อกิโลกรัม
b = น้ำหนักของไม้ที่ได้ต่อ 1 รูเจาะ
c = จำนวนรูเจาะ
น้ำหนักเฉลี่ยต่อต้นที่จะได้รับ คือ b x c = 0.03 x 350 = 10.5 กิโลกรัม
a x b x c = ?
10,000 x 0.03 x 350 = 105,000 บาท ต่อต้น (ยังไม่หักค่าใช้จ่ายต่างๆเช่นการแปรรูป)
หากท่านใดสนใจสอบถามรายละเอียการกระตุ้นไม้กฤษณาโดยวิธีนี้ สามารถติดต่อโดยตรงได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 081-9979389 (+66-81-9979389) หรือที่ e-mail :
witsawa1@yahoo.com