วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2555

รายงานภาวะตลาดสินค้าไม้หอมกฤษณา (Agarwood) ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์


รายงานภาวะตลาดสินค้าไม้หอมกฤษณา (Agarwood) ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

สินค้า:  ไม้กฤษณาเจริญเติบโตได้ดีในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นไม้เศรษฐกิจที่สร้างรายได้อย่างจริงจังให้กับเกษตรกร จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับเกษตรกรไทย ปัจจุบันมีการปลูกเป็นสวนป่า  มีกรรมวิธีใช้สารบังคับทำให้เกิดน้ำมัน หรือสารกฤษณานำไปกลั่นเป็นน้ำหอม  มีการจัดตั้งโรงกลั่นไม้กฤษณาในจังหวัดตราด และจันทบุรี   เพื่อส่งออกไปทั่วโลกแต่ตลาดหลักเป็นประเทศอาหรับภูมิภาคตะวันออกกลาง หรือกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก ซึ่งมีความต้องการผลิตภัณฑ์จากไม้หอมกฤษณาสูงมาก เช่น ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์   อิสราเอล ลิเบีย ฯลฯ   นอกจากนั้นยังมีการใช้น้ำมันกฤษณา ผงไม้   ผลิตผงธูป และไม้แก่น ในการทำยาสมุนไพร และทำกำยาน  ประเทศยุโรปใช้น้ำมันกฤษณาเป็นหัวเชื้อน้ำหอม และที่ประเทศญี่ปุ่น ได้มีการใช้น้ำมันกฤษณาเป็นตัวยารักษามะเร็งในลำไส้ กระเพาะอาหาร และมะเร็งในตับ  

            ในรายงานฉบับนี้จะกล่าวครอบคลุมเฉพาะไม้หอมกฤษณา (Agarwood) เป็นเศษ /ชิ้น (HS. :  1211) ต้น/ส่วนของต้นไม้สำหรับใช้ทำน้ำหอม ยา และอื่นๆจากกลุ่มข้างต้น ประเทศแถบอ่าวอาระเบียนเรียก Oudh และเป็นตลาดใหญ่ทั้งเพื่อนำเข้าและส่งออกต่อ (Re-export)

 

1.       ภาวะตลาด :

1.1 การนำเข้าของยูเออี: จากสถิติการนำเข้าของล่าสุดที่แสดงมูลค่าการนำเข้าของกลุ่มสินค้าข้างต้นดังนี้

ปี 2551 มูลค่า 18.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ปริมาณ 4,982 ตัน

ปี 2552 มูลค่า 20.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ปริมาณ 4,731 ตัน ขยายตัวในเชิงมูลค่า 9.0%

ปี 2553 มูลค่า 21.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ปริมาณ 5,296 ตันขยายตัวในเชิงมูลค่า 6.8%

     มูลค่านำเข้ามากน้อยจากประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย ออสเตรเลีย โอมาน

      อียิปต์ สหรัฐฯ ซีเรีย และจีน   ตามลำดับ  (รายละเอียดปรากฏตามสถิติแนบ)

      1.2. การนำเข้าจากไทย:

ปี 2551 มูลค่า 299,754 เหรียญสหรัฐ สัดส่วนตลาด 1.6%

ปี 2552 มูลค่า 354,384 เหรียญสหรัฐ สัดส่วนตลาด 1.7% ขยายตัวในเชิงมูลค่า 18.2%

ปี 2553 มูลค่า 1.2 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนตลาด 5.6%  ขยายตัวในเชิงมูลค่า 244.0%

2.       การผลิตในประเทศ  :  ไม่มีการผลิตในประเทศ  แต่มีโรงงานผลิตน้ำหอม เครื่องสำอาง สเปรย์ดับกลิ่น และกระดาษทิชชูนำเข้าชิ้นไม้หอม /เศษไม้หอมเป็นวัตถุดิบผลิตสินค้า เศษไม้อัดแท่งเป็นกำยาน

 

3.  การส่งออกต่อ (Re-export)   : ยูเออีมีรัฐดูไบเป็นศูนย์กลางการส่งออกต่อไม้/ส่วนของต้นไม้สำหรับใช้ทำน้ำหอม ยา และอื่นๆ ตลอดปีมีพ่อค้าจากประเทศอาหรับอิ่นๆและจากกลุ่มประเทศอัฟริกาเข้าไปเลือกซื้อสินค้า ยูเออีส่งออกต่อสินค้ากลุ่มนี้ทั้งสิ้นเมื่อปี 2553 ปริมาณ 1,579 ตัน มูลค่า 5.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยส่งออกไปประเทศอิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย คูเวต ฮ่องกง อัลจีเรีย บาห์เรน ซูดาน และกาตาร์ 

 4.  ช่องทางการนำเข้าสู่ตลาด  : มีบริษัทขนาดใหญ่นำเข้าไม้หอม น้ำมันและผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายผ่านOutlet ที่ตั้งอยู่ห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศ นอกจากนั้นมีจำหน่ายในร้านค้าปลีกและ Kiosk อยู่ในแหล่งชุมชนทั่วไป การนำเข้าพอสรุปได้ดังนี้
         - ผู้นำเข้า                                    ร้อยละ  :           60                                      
         - ผู้ค้าปลีก                                  ร้อยละ  :           40

 5.  ฤดูกาลสั่งซื้อ ฤดูกาลจำหน่าย   :   ตลอดปี           

 6. การแข่งขัน : ไม้หอมจากรัฐอัสสัมอินเดียจัดว่าเป็นไม้หอมที่ดีกลิ่นนุ่มนวลที่สุด แต่ปัจจุบันไม่พบไม้หอมจากอินเดียนัก ส่วนใหญ่มักจะเป็นไม้หอมจากพม่าขนส่งผ่านรัฐอัสสัมของอินเดียเพื่อส่งออก นอกจากนั้นเป็นไม้หอมจากกัมพูชาที่ได้รับการยอมรับในยูเออีมาก ส่วนไม้หอมจากเกาะบอร์เนียวของอินโดนีเซียส่วนใหญ่ส่งออกผ่านสิงคโปร์ (ขณะนี้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางส่งออกต่อไม้หอมที่มีปริมาณและมูลค่าอันดับต้น)  มาเลเซีย  แต่กลิ่นไม้หอมจากอินโดนีเซียจะไม่นุ่มนวลเทียบกับของอินเดีย  นอกจากนั้นเป็นไม้หอมจากจีน และปาปัวนิวกีนี
เนื่องจากไม้หอมกฤษณาเป็นสินค้าควบคุมการส่งออก สินค้านี้บางส่วนส่งออกจากไทยไปดูไบ เป็นลักษณะ Cash & Carry โดยพ่อค้าจากดูไบมาเลือกซื้อสินค้าและขนกลับไปเอง หรือจัดส่งทางพัสดุไปรษณีย์ที่มีบริษัทรับจ้างขนส่งพิเศษ  บางครั้งมีพ่อค้าไทยลักลอบนำไม้หอมจากไทยไปจำหน่ายที่ดูไบ แต่หลายครั้งจึงถูกพ่อค้าดูไบกดราคา

            ปัจจุบันรัฐบาลยูเออีออกกฎหมายควบคุมการนำเข้าไม้กฤษณา ภายใต้บทบัญญัติ หรือ UAE’s Federal Law No.11. โดยผู้นำเข้าจะต้องมีหนังสือรับรอง CITES  ระบุสายพันธุ์ไม้หอม และยูเออีให้ความคุ้มครองไม้กฤษณาสายพันธุ์ Aquilaria (ยกเว้นสายพันธุ์  Aquilaria malaccensis) และสายพันธุ์ Gyrinops แสดงต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรและเจ้าหน้าที่กักกันพืชสัตว์  

 7. สินค้าและราคา : ไม้หอมมีหลายคุณภาพและราคา ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำมันในเนื้อไม้สีและขนาดของไม้ ราคาไม้กฤษณากิโลกรัมละ 7,000-200,000 บาท น้ำมันกฤษณามีราคา 5,000-10,000 บาทต่อโตล่า   (Toula หน่วยวัดปริมาตร เท่ากับ  11.62 กรัมหรือ 12 ลูกบาศก์เซนติเมตร)  หากชิ้นใหญ่เป็นรูปต่างๆ เช่น รูปเขากวางอาจมีราคากิโลละหลายหมื่นเหรียญสหรัฐฯ แต่ปัจจุบันพบหายากมาก  สินค้าที่จำหน่ายในตลาดขณะนี้เป็นไม้ Aquilaria, Gyrinops chips และเศษ/ผงไม้อัดก้อน (Bakhoor)

             ในตลาดยังมีไม้ปลอมหลอกขายผู้ซื้อ วิธีทำจะใช้ไม้กฤษณาคุณภาพต่ำเคลือบด้วยผงไม้ผสมกับแว๊กซ์หรือวัสดุเกาะแน่นเคลือบชั้นนอกแล้วผ่านกระบวนความร้อนให้เนื้อเสมอกัน อีกชนิดเป็นไม้ปลอมที่รู้จักในตลาดว่า “BMW”(black magic wood) วิธีทำจะใช้ไม้กฤษณาคุณภาพต่ำหรือไม้ชนิดอื่นชุบด้วยน้ำมันกฤษณาผสมกับแอลกอฮอล์ สำหรับใช้ซื้อขายในตลาดล่างมีราคาถูก สินค้าถูกซื้อไปใช้ในครัวเรือน อาทิ ใช้ควันเพื่อแต่งกลิ่นอาหาร เป็นต้น

 8.  ภาษีนำเข้าจากราคา CIF   :   ร้อยละ 5 จากราคาซีไอเอฟ 

 9. สิทธิพิเศษทางศุลกากร      : ไม่มี

 10.. เอกสารประกอบการนำเข้า  : Invoice, Certificate of Origin ประทับตรารับรองจากหอการค้าไทย และ Legalize จากสถานทูตประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในประเทศไทย Bill of Lading และ     Packing List

 11. กฏระเบียบอื่น ๆ :  ไม้หอมถูกจัดอยู่ในกลุ่มไม้อนุรักษ์หายาก ภายใต้อนุสัญญา Convention on Trade in Endangered Species ของ Wild Fauna and Flora   (CITES) และประเทศยูเออีก็เป็นสมาชิก อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ the Federal Environment Agency, Ministry of Environment and Water  ดังนั้นการส่งออกและนำเข้าไม้หอมนี้จะต้องมีใบรับรอง CITES แสดง จากประเทศไทยที่จะต้องได้รับอนุญาตจากกรมอุทธยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช ที่ยูเออีจะต้องได้รับอนุญาตจาก Ministry of Environment and Water  และโดยมีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานศุลกากรและหน่วยงานกักกันพืชสัตวเป็นผู้ปฎิบัติใช้ตรวจสอบการนำเข้าส่งออก

 12. สรุป :
 
1.  ไม้กฤษณาจากธรรมชาติมีราคาสูงขึ้นเพราะมีจำนวนลดเหลือน้อยมาก ทำให้ผู้ซื้อหันมาซื้อไม้กฤษณาจากสวนป่าซึ่งสามารถเก็บเกี่ยวมาผลิตเป็นน้ำมันกฤษณาได้มากขึ้น จนทำให้ปัจจุบันราคาน้ำมันในตลาดมีราคาถูกลง

2. บริษัทจำหน่ายไม้กฤษณาและผู้ผลิตสินค้าจากไม้กฤษณารายสำคัญของยูเออี มีสวนป่าปลูกไม้กฤษณาประมาณ 3 ล้านต้น รวมทั้งสวนป่าในประเทศไทยเพื่อผลิตสินค้าสำหรับส่งออกไปตะวันออกกลาง  โดยเฉพาะตลาดซาอุดิอาระเบียเป็นตลาดใหญ่รองรับสินค้านี้

3. เพื่อสร้างความมั่นใจสินค้า ผู้นำเข้ารายใหญ่หรือโรงงานที่ผลิตสินค้าทำจากไม้หอม มักจะมีตัวแทนของบริษัทอยู่ในประเทศแหล่งนำเข้าไม้หอม เพื่อเลือกซื้อสินค้าและส่งให้บริษัทที่ดูไบ โดยเฉพาะในประเทศที่มีไม้กฤษณาธรรมชาติที่ยังเหลืออยู่มาก เช่น ในประเทศอินโดนีเซีย กัมพูชา เป็นต้น

4. นอกจากชิ้นไม้กฤษณาสำหรับใช้จุด ผงไม้อัดก้อน เศษ/ผงไม้ถูกนำเข้ามาขึ้นเพื่อสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบผลิตน้ำหอม เครื่องสำอาง สบู่ ครีมทาผิวและอื่นๆ 

5. ปัจจุบันชาวอาหรับนิยมใช้น้ำมันกฤษณาปรุงแต่งร่างกายแทนน้ำหอมทั่วไปเนื่องจากมีกลิ่นติดทนนานอีกทั้งมีความสะดวก ส่วนชิ้นไม้หอมสำหรับใช้กลิ่นควันก็ยังใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น จุดให้เกิดกลิ่นหอมภายในบ้าน เพื่อใช้ในพิธีกรรม ไล่สิ่งชั่วร้าย ใช้ในงานเลี้ยงรับรองแขกสำคัญ

6. ด้วยลู่ทางการตลาดที่มีทิศทางสดใสดังกล่าว ประกอบกับไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีศักยภาพเพราะมีการปลูกสวนป่าไม้กฤษณาจำนวนมาก โดยเฉพาะสวนป่าบริเวณเขาใหญ่ กลิ่นไม้เป็นที่ยอมรับในตลาด หากได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง คาดว่าไทยจะสามารถพัฒนาให้ไม้กฤษณาเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกสำคัญที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ   

***ข้อมูลจาก สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองดูไบ กันยายน 2554